วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2554

โบสถ์ (คริสต์ศาสนา)

ในทางคริสต์ศาสนา โบสถ์ หมายถึงอาคารหรือสถานที่ที่ผู้นับถือศานาคริสต์มารวมกันเพื่อประกอบพิธีหรือทำศาสนกิจร่วมกัน

อาคาร "โบสถ์" (Church) คือ อาคารศักดิ์สิทธิ์สร้างขึ้นเพื่อนมัสการพระเจ้า เป็นสถานที่ซึ่งบรรดาสัตบุรุรวมตัวกันปฏิบัติคารวกิจสาธารณะ อาคารโบสถ์หมายถึง "บ้านของพระเจ้า" ด้วย คือบ้านที่มีไว้เพื่อให้ประชากรของพระมาชุมนุมพร้อมกันประกอบพิธีกรรมการมาชุมนุมกันเพื่อนมัสการพระเจ้า เป็นเอกลักษณ์ประการหนึ่งของวิถีชีวิตคริสตชน และคริสตชนสำนึกตนเองว่าเป็นประชากรของพระเจ้า และพวกเขาก็มารวมตัวกันถวายนมัสการในฐานะที่เป็นประชากร



สมัยเมื่อครั้งโบสถ์เป็นบ้าน
ตั้งแต่สมัยแรกเริ่มของชีวิตพระศาสนจักร บรรดาคริสตชนไม่ได้มีสถานที่ "พิเศษ" สำหรับรวมตัวประกอบศาสนพิธีโดยเฉพาะ ในหนังสือกิจการอัครธรรมทูต เราจะพบว่าบรรดาคริสตชนไปที่พระวิหาร กรุงเยรูซาเล็ม ไปร่วมปฏิบัติศาสนกิจของชาวยิว (เทียบกิจการ 2:46; 3:1 5:12 - 42 ,21:26-30;22:171) แม้ว่าคริสตชนสมัยแรกเริ่มจะยังคง มีส่วนร่วมในพิธีกรรมของชาวยิวอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่คริสตชนก็ถือปฏิบัติคารวกิจ เฉพาะแบบของคริสตชนมาตั้งแต่แรกแล้ว นั่นคือ "Fratio panis" พิธีบิขนมปัง หรือที่เราเรียกกันต่อมาในภายหลังว่าพิธีบูชาขอบพระคุณนั่นเอง สถานที่ที่ใช้ในการแบ่งปันปังในพิธีบูชาขอบพระคุณก็คือ "บ้าน" ของผู้รับศีลล้างบาปคนใดคนหนึ่ง แน่นอนคงจะเลือกบ้านที่จุคนได้พอสมควร สามารถให้การต้อนรับบรรดาศิษย์ จำนวนมากๆได้ เหมือนอย่างในวันเปนเตคอสเต "ซึ่งมีพี่น้องมาร่วมชุมนุมกัน ประมาณหนึ่งร้อยยี่สิบคน " (กจ।1:15) บรรดาคริสตชนจัดให้มีการรวมตัวกันทำนองนี้ เพื่อ "รับฟังคำสั่งสอนของบรรดาอัครสาวกเจริญชีวิตสนิทสัมพันธ์กันฉันพี่น้อง บิขนมปังแบ่งปันกัน และสวดภาวนา"(กจ.2:42) เพื่อร่วมกิจกรรมดังกล่าว อาจจะใช้ห้องอาหารขนาดใหญ่ ห้องเดียวก็เพียงพอ ทั้งนี้ เพราะกิจกรรมหลักของการร่วมชุมนุมกันคือ การทานอาหารร่วมกัน ที่กรุงเยรูซาเล็ม ณ บ้านของมารีอา มารดาของยอห์น ที่มีฉายาว่ามาร์โก ก็เป็นไปในทำนองนี้ ณ ที่นั้นจะมีผู้คนจำนวนมากมาอยู่ร่วมกัน เพื่อสวดภาวนา (กจ.12:12) ตอนที่เปโตรถูกจับขังคุกที่เมืองไตรอัส บรรดาคริสตชนร่วมชุมนุมกัน ในวันแรกต้นสัปดาห์ ณ ห้องหนึ่งชั้นบนเพื่อร่วมพิธีบิขนมปัง (กจ.20:7-8) ที่กรุงโรม นักบุญเปาโลทักทายปริสกาและอาควิลาว่า "กลุ่มผู้มีความเชื่อรวมตัวกันที่บ้านของฟิเลโมน (ฟม 2)

ส่วนประกอบโบสถ์
คำว่า "โบสถ์" (Church) มาจากคำภาษากรีกว่า "ekklesia" ตรงกับคำภาษาลาตินว่า "ecclesia" ความหมายตามตัวอักษร "ekklesia" คือผู้ได้รับเรียก (จากพระจิตเจ้า) ให้เรารวมตัวกัน หมายถึง ตัวอาคารโบสถ์ซึ่งเป็นสถานที่ให้การต้อนรับผู้ที่มาชุมนุมกันนี้ ความหมายของคำว่า "โบสถ์" มีพัฒนาการอันยาวนานตลอดประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักร โบสถ์มีส่วนประกอบคราวๆ ดังนี้

ลานหน้าโบสถ์(Church Courtyard)
ลานหน้าโบสถ์ถือว่ามีความสำคัญมาก ที่จะต้องมีเผื่อไว้ เพราะลานนี้จะแสดงออกซึ่งคุณค่าของการให้การต้อนรับเป็นด่านแรก ดังนั้น อาจออกแบบเป็นรูปลานหน้าโบสถ์ที่มีเสาเรียงรายรองรับซุ้มโค้งอยู่โดยรอบๆ ด้าน หรือรูปแบบอย่างอื่นที่จะส่งผลคล้ายคลึงกัน บางครั้งก็ใช้ลานดังกล่าวในการประกอบพิธีด้วย หรือบางทีก็ใช้เป็นทางผ่านเข้า เป็น "ตัวเชื่อมโยง" ระหว่าง "ภายนอกโบสถ์" และ "ภายในโบสถ์" โดยจะต้องไม่ให้ส่งผลกระทบที่กลายเป็นการปิดกั้น แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อการปรับสภาพจิตใจจากความสับสนวุ่นวายของชีวิตภายนอก เตรียมจิตใจเข้าสู่ความสงบภายในโบสถ์

ระเบียงทางเข้าสู่อาคารโบสถ์ (Atrium หรือ Nathex) และประตูโบสถ์
การสร้างโบสถ์ในคติเดิมเพื่อจะผ่านเข้าสู่โถงภายในอาคารโบสถ์ จะต้องผ่านระเบียงทางเข้าสู่อาคารโบสถ์ที่เรียกกันว่า Atrium หรือ Nathex ก่อนและบริเวณนั้นจะมีประตูโบสถ์อยู่ด้วย ระเบียงนี้ คือ บริเวณที่ให้การต้อนรับบรรดาสัตบุรุษผู้มาร่วมพิธีซึ่งเปรียบเสมือนพระศาสนจักรเหมือน "มารดาผู้ให้การต้อนรับลูกๆ ของพวกเธอ" และประตูทางเข้าอาคารโบสถ์ก็เปรียบเสมือน "พระคริสตเจ้า ผู้ทรงเป็นประตูของบรรดาแกะทั้งหลาย " (เทียบ ยน 10:7) ดังนั้นหากจะมีภาพตกแต่งที่ประตูกลาง ก็ให้คำนึงถึงความหมายดังกล่าวขนาดของประตูและทางเข้านี้ นอกจากจะต้องคำนึงถึงสัดส่วนให้เหมาะสมกับขนาดความจุของโถงภายในโบสถ์แล้ว ยังจะต้องคำนึง ถึงความจำเป็นของขบวนแห่อย่างสง่าที่จะต้องผ่านเข้าออกด้วย


หอระฆัง (Bell Tower) และระฆังโบสถ์ (Bell)
ในการออกแบบก่อสร้างโบสถ์ ควรจะคำนึงถึงบริเวณการก่อสร้างหอระฆัง และกำหนดให้มีการใช้ระฆัง เพื่อประโยชน์ใช้สอยแบบดั้งเดิม นั่นคือ การเรียกสัตบุรุษให้มาร่วมชุมนุมกันในวันพระเจ้า หรือเป็นการแสดงออกถึงวันฉลองและสมโภช รวมทั้งเป็นการสื่อสารให้ทราบถึงกันด้วยสัญญาณการเคาะระฆัง เช่น ระฆังเข้าโบสถ์วันธรรมดา ระฆังพรหมถือสาร ระฆังวันสมโภช ระฆังผู้ตาย ฯลฯ ควรละเว้นการใช้เสียงระฆังจากเครื่องเสียงและลำโพง

รูปพระ
สอดคล้องกับธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของพระศาสนจักร พระรูปของพระคริสตเจ้า, พระแม่มารี และนักบุญได้รับการเคารพ ในโบสถ์ต่างๆแต่รูปพระเหล่านี้จะต้องจัดวางในลักษณะที่จะไม่ทำให้สัตบุรุษวอกแวกไปจากการประกอบพิธีที่กำลังดำเนินอยู่และไม่ควรจำนวนมาก และจะต้องไม่มีรูปนักบุญองค์เดียวกันมากกว่าหนึ่งรูป รวมทั้งจัดขนาดให้เหมาะสมด้วย โดยปรกติแล้วควรจะคำนึงถึงความศรัทธาของหมู่คณะทั้งหมดในการตกแต่งและการจัดสร้างโบสถ์ (I.G. 2

อ่างน้ำเสก (Holy Water Font)
อ่างน้ำเสกเตือนให้ระลึกถึง อ่างล้างบาป และน้ำเสกที่สัตบุรุษใช้ทำเครื่องหมายกางเขนบนตนเองนั้น เป็นการเตือนใจให้ระลึกถึงศีลล้างบาปที่เราได้รับ ด้วยเหตุนี้เองที่อ่างน้ำเสกจึงตั้งไว้ตรงทางเข้าโบสถ์นอกจากนี้ยังกำชับให้ใช้วัสดุเดียวกัน มีรูปแบบและรูปทรงสอดคล้องกับอ่างล้างบาปด้วย

รูปสิบสี่ภาค (Stations of the Cross)
ไม่ว่ารูปสิบสี่ภาคจะประกอบด้วยพระรูปพร้อมทั้งไม้กางเขน หรือมีเฉพาะไม้กางเขนเพียงอย่างเดียว ก็ให้ประดิษฐานไว้ในโบสถ์ หรือ ณ สถานที่เหมาะสมสำหรับติดตั้งรูปสิบสี่ภาค เพื่อความสะดวกของสัตบุรุษ (หนังสือเสก และอวยพร บทที่ 34 ข้อ 1098)

เครื่องเรือนศักดิ์สิทธิ์ (Sacred Furnishings)
การประกอบพิธีกรรมของคริสตชนต้องใช้อุปกรณ์หลายอย่างทั้งที่เป็นโครงสร้างถาวรและที่เป็นแบบเคลื่อนย้ายได้ มีทั้งเป็นเครื่องเรือนหรือภาชนะ เราใช้ชื่อรวมเรียกอุปกรณ์เหล่านี้ว่า "เครื่องเรือนศักดิ์สิทธิ์" หรือ "เครื่องเรือนพิธีกรรม" ซึ่งหมายถึง อุปกรณ์เหล่านั้นซึ่งมีไว้ใช้สอยในระหว่างการประกอบพิธีการปฏิรูปพิธีกรรมสังคายนาก็ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ด้วย "พระศาสนจักรเอาใจใส่กวดขันเป็นพิเศษ ให้เครื่องเรือนที่ใช้ในศาสนา สวยงามสมที่จะช่วยให้คารวกิจมีความสง่างาม พระศาสนจักรจึงยอมให้มีการเปลี่ยนปลงรูปทรง การตกแต่งที่เกิดจากความก้าวหน้าทางวิชาการตามยุคสมัย" (S.C.122

คริสตศานาในประเทศไทย มีหลายนิกาย แต่ละนิกายจะมีจารีตและการใช้คำ สัญลักษณ์ที่แตกต่างกันนิกายที่มีประชาชนรู้จักและนับถือกันมากมีอยู่ 2 นิกาย คือ นิกายโรมันคาทอลิก (คริสตัง)และนิกายโปรเตสเเตนต์(คริสเตียน) แต่ละนิกายจะมีวิธีเรียกที่แตกต่างกันเช่น นิกายโรมันคาทอลิคจะเรียกโบถส์ของตนเองว่า โบสถ์ เช่น โบสถ์พระแม่มารี โบสถ์ในนิกายนี้จะตกต่างด้วยสถาปัตยกรรมยุโรบ ประดับประดาด้วยรูปปั้นต่างๆ แต่นิกายโปรแตสแตนส์จะเรียนกโบถส์ของตนเองว่า คริสตจักร เช่น คริสตจักรพระสัญญา อาคารของโบสถ์จะเน้นความเรียบง่ายเหมือนอาคารทั่วไป ไม่เน้นรูปเคารพหรือรูปปั้น อาจจะมีไม้กางเขนเล็กพอเป็นเครื่องหมาย แสดงถึงอาคารทางด้านศาสนกิจเท่านั้น